โรคต้อกระจก

โรคต้อกระจก

ต้อกระจก (Cataracts) เป็นโรคที่เลนส์แก้วตามีความขุ่นมัวจนกระทบต่อการมองเห็น เมื่อจอประสาทตารับภาพได้ไม่ชัดเจนผู้ป่วยจึงมองเห็นภาพต่างๆ อย่างพร่ามัว โรคต้อกระจกนี้ไม่ได้ทำให้มีอาการเจ็บหรือระคายเคืองใดๆ ที่ตา โดยอาจเกิดกับตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างและไม่อาจแพร่กระจายจากตาข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งได้

 

 

อาการของโรคต้อกระจก โรคต้อกระจกนั้นยากที่จะสังเกตได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เนื่องจากต้องใช้เวลาหลายปีกว่าอาการของต้อกระจกจะเพิ่มมากขึ้นจนกระทบต่อการมองเห็น โดยผู้ป่วยมักมีอาการดังนี้

  • มองเห็นได้ไม่ชัดเจน ภาพเบลอ หรือพร่ามัว
  • ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการอ่านหนังสือหรือกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา
  • ดวงตามองเห็นในที่ที่มีแสงสลัวได้ดีกว่าแสงจ้า  แพ้แสงจ้า
  • มองเห็นเป็นภาพซ้อน
  • มองภาพเป็นสีเหลืองหรือสีซีดจางลง
  • มองเห็นเป็นวงแหวนรอบแสงไฟหรือหลอดไฟ
  • ผู้ป่วยอาจเข้าใจว่าความพร่ามัวเกิดจากระดับสายตาที่มีปัญหา เช่น  สายตาสั้น  และนำไปสู่การเปลี่ยนแว่นตาหรือคอนแท็คเลนส์บ่อยๆ

 

สาเหตุของโรคต้อกระจก เลนส์แก้วตาของคนเราประกอบด้วยน้ำและโปรตีนเป็นส่วนมาก ปกติโปรตีนเหล่านี้จะเรียงตัวเป็นระเบียบทำให้แสงผ่านเข้าสู่เลนส์ได้ และเลนส์มีลักษณะใส ต้อกระจกเกิดจากการที่โปรตีนในเลนส์แก้วตาสะสมเป็นกลุ่มปกคลุมพื้นที่ในบริเวณแก้วตาจนทำให้เลนส์ขุ่นมัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรคต้อกระจกอาจแบ่งได้ตามสาเหตุการเกิดต่อไปนี้

  1. ต้อกระจกในวัยสูงอายุ (Age-related Cataract)  อายุที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต้อกระจกที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากระบบโครงสร้างของกระจกตาที่มักเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา  ภาวะเสื่อมของเลนส์แก้วตาที่มีความยืดหยุ่นและโปร่งใสน้อยลง
  2. ต้อกระจกแต่กำเนิด (Congenital Cataract)  ทารกสามารถเป็นต้อกระจกได้ตั้งแต่แรกเกิด  โดยอาจเกิดได้จากพันธุกรรมการติดเชื้อ การได้รับอันตรายหรือมีพัฒนาการระหว่างอยู่ในครรภ์ไม่ดี ทารกที่พบว่าเป็นต้อกระจกแต่กำเนิด  ได้แก่  ภาวะกาแล็กโทซีเมีย โรคหัดเยอรมันหรือโรคเท้าแสนปมชนิดที่ 2 ก็อาจนำมาซึ่งการเกิดต้อกระจกชนิดนี้ เด็กเล็กบางคนอาจแสดงอาการในภายหลังโดยมักเป็นทั้งสองข้าง   บางครั้งต้อกระจกนี้เล็กมากจนไม่ส่งผลต่อการมองเห็น แต่เมื่อพบว่ามีผลกระทบต่อการมองเห็นจึงจะผ่าออก
  1. ต้อกระจกทุติยภูมิ (Secondary Cataract)  การผ่าตัดรักษาโรคตาชนิดอื่นอย่างเช่น  ต้อหิน  การป่วยเป็นม่านตาอักเสบ  หรือตาอักเสบ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อกระจกตามมาได้  นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน   โรคอ้วน  หรือโรคความดันโลหิตสูง  การได้รับยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์  ยาขับปัสสาวะบางตัว ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคต้อกระจกได้ง่าย
  2. ต้อกระจกจากการได้รับบาดเจ็บ (Traumatic Cataract)  อุบัติเหตุที่กระทบต่อดวงตา ทั้งที่ต้องผ่าตัดและไม่ผ่าตัดดวงตา สามารถนำไปสู่การเกิดต้อกระจกภายหลังได้เช่นกัน

 

โรคต้อกระจกยังอาจมีสาเหตุจากปัจจัยอื่นประกอบ ได้แก่ บุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยโรคนี้ รับประทานอาหารที่วิตามินไม่ครบถ้วน ต้องเผชิญแสงแดดเป็นเวลานานในชีวิตประจำวัน หรือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มาก เป็นต้น 

การวินิจฉัยโรคต้อกระจก

  • การวินิจฉัยด้วยตนเอง เนื่องจากต้อกระจกไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ลักษณะของดวงตา จึงยากที่จะเห็นความผิดปกติของดวงตา นอกเสียจากต้อจะสุกจนกลายเป็นสีขาวที่ตาดำแล้ว ทั้งนี้บุคคลใกล้ชิดหรือตัวผู้ป่วยเองอาจสังเกตได้หากมีอาการเข้าข่ายที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
  • การวินิจฉัยโดยแพทย์  โรคต้อกระจกสามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจและทำแบบทดสอบต่างๆ ต่อไปนี้
  • การตรวจวัดสายตา  (Visual Acuity Test)  การวัดความสามารถการมองเห็นในระยะต่างๆ  โดยให้อ่านชุดตัวอักษร เมื่อทดสอบตาข้างใดๆ  อีกข้างจะถูกปิดไว้ วิธีนี้เป็นการประเมินว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติทางสายตาให้เห็นหรือไม่
  • การทดสอบโดยขยายรูม่านตา (Retinal Eye Exam)  ทำได้ด้วยการหยดยาลงที่ตาเพื่อให้รูม่านตาเปิดกว้างขึ้น แล้วใช้เลนส์ขยายแบบพิเศษตรวจดูจอประสาทตาและเส้นประสาทตาเพื่อหาความผิดปกติของตา หลังการตรวจนี้ดวงตาของผู้ป่วยมองเห็นในระยะใกล้พร่ามัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง
  • การตรวจโดยใช้กล้องจักษุจุลทรรศน์ชนิดลำแสงแคบ (Slit Lamp Examination)  เป็นการใช้กล้องที่มีความเข้มของลำแสงสูงและบางพอที่จะส่องกระจกตา ม่านตา เลนส์แก้วตา รวมถึงพื้นที่ว่างระหว่างม่านตาและกระจกตา   ช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างที่เป็นส่วนเล็กได้อย่างสะดวก
  • การตรวจวัดความดันลูกตา (Tonometry Test) เป็นการใช้เครื่องวัดความดันในลูกตาเพื่อแยกระหว่างต้อกระจกกับต้อหินซึ่งจะมีความดันที่ตาสูง การตรวจชนิดนี้แพทย์อาจใช้ยาชาแบบหยดตากับผู้ป่วย

 

การรักษาโรคต้อกระจก โรคต้อกระจกในระยะแรกๆ  บรรเทาได้ด้วยการตัดแว่นสายตาใหม่ สวมแว่นกันแดดกันแสงสะท้อนหรือการใช้เลนส์ขยายจนกว่าต้อกระจกจะเริ่มกระทบต่อการทำกิจกรรมต่างๆ  ในชีวิตประจำวัน จึงจะทำการผ่าตัดซึ่งเป็นวิธีรักษาเดียวในปัจจุบัน โดยต้องใช้เวลา การมองเห็นหลังการผ่าตัดจึงจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปกติ แต่หากผู้ป่วยมีโรคตาชนิดอื่น เช่น จอประสาทตาเสื่อมร่วมด้วย ก็อาจส่งผลให้การมองเห็นไม่อาจดีขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ได้

ก่อนการผ่าตัดต้อกระจก การผ่าตัดต้อกระจกขึ้นอยู่กับการตัดสินใจทั้งของผู้ป่วยและแพทย์ผู้ดูแลร่วมกัน  การผ่าตัดต้อกระจกไม่จำเป็นต้องรีบร้อน เนื่องจากการเลื่อนการผ่าตัดไม่ได้ส่งผลต่อการมองเห็น แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นต้อกระจกอาจมีอาการทรุดลงได้เร็วกว่าผู้ป่วยทั่วไป

กรณีผ่าตัดต้อกระจกทั้ง 2 ข้าง สามารถทำได้เพียงครั้งละข้าง   โดยต้องรอให้ตาข้างแรกที่ผ่าตัดหายดีเสียก่อนแล้วจึงจะผ่าตัดอีกข้างหนึ่งได้ ก่อนการผ่าตัด 1-2 อาทิตย์ แพทย์จะให้ผู้ป่วยทำแบบทดสอบต่างๆ เช่น วัดความโค้งกระจกตา ขนาดของดวงตา และระดับของสายตา เพื่อเลือกเลนส์แก้วตาเทียม (Intraocular Lens: IOL) ที่เหมาะสมกับดวงตาของผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องงดรับประทานอาหาร 12 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด

 

ระหว่างการผ่าตัดต้อกระจก การผ่าตัดมีวิธีผ่าตัดทั้งรู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัว การรักษาแบบรู้สึกตัวทำได้โดยใช้ยาชาบริเวณรอบดวงตา จากนั้นหยดยาเพื่อเปิดม่านตาให้กว้างและล้างทำความสะอาดบริเวณรอบ ก่อนจะนำเอาเลนส์แก้วตาที่มัวออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทนที่แก้วตาเดิมการผ่าตัดต้อกระจกใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เมื่อเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเรียบร้อย แพทย์จะเฝ้าดูว่ามีภาวะเลือดออกหรือปัญหาใดๆ หรือไม่ จากนั้นผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องพักที่โรงพยาบาล

หลังผ่าตัด หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีอาการคันหรือรู้สึกไม่สบายหลังการผ่าตัด  มีอาการน้ำตาไหลดวงตาไวต่อแสงและสัมผัส ระวังอย่าก้มลงหยิบสิ่งของบนพื้นหรือยกของหนัก และคอยรักษาความสะอาดที่ดวงตาโดยล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัส ใช้ผ้าปิดตาหรือสวมแว่นตาเพื่อป้องกันดวงตา และไม่ถูหรือกดบริเวณตาข้างที่ผ่าตัด

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามแพทย์แนะนำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น และใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยในการรักษาและลดการเสี่ยงภาวะติดเชื้อ ใน 2-3 สัปดาห์หลังผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่การรักษาจะดีขึ้นและหายดีใน 8 สัปดาห์ เป็นเวลาเดียวกับที่แพทย์นัดผู้ป่วยไปตรวจดูอาการ

 

ภาวะแทรกซ้อนของการรักษาโรคต้อกระจก  โรคต้อกระจกไม่ปรากฏถึงภาวะแทรกซ้อน มีเพียงภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดรักษา ซึ่งก็มีโอกาสเกิดได้น้อยและเป็นปัญหาที่สามารถรักษาได้ โดยผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง คือผู้ที่ม่านตาอักเสบ (Uveitis) สายตาสั้นรุนแรง (Severe Short-sightedness) หรือมีภาวะเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy) รวมทั้งผู้ป่วยที่มีปัญหาในการนอนราบ ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หรือกำลังรับประทานยารักษาโรคต่อมลูกหมาก

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุดในการผ่าตัด คือ ภาวะถุงเลนส์ตาขุ่นหลังผ่าตัดต้อกระจก (Posterior Capsule Opacification: PCO) ซึ่งส่งผลให้การมองเห็นพร่ามัว ผู้ป่วยอาจเข้าใจว่าเป็นอาการต้อกระจกที่ยังไม่หายไป อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ที่เกิดภาวะนี้รักษาได้ด้วยการใช้เลเซอร์ผ่าตัดตาและจะดีขึ้นได้ภายใน 2-3 วัน โดยไม่ทิ้งร่องรอยบาดแผลใดๆ

ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดอาการบวมแดงในตา บวมที่จอประสาทตาและกระจกตา จอประสาทตาแยกตัวจากผนังด้านในของดวงตาทำให้เกิดจอตาหลุดลอก เลือดออกในตาหรือดวงตาติดเชื้อได้ หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บ บวมแดง มองไม่เห็น หรือการมองเห็นผิดปกติหลังกลับมารักษาตัวที่บ้าน ควรไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ แพทย์อาจพบปัญหาระหว่างการผ่าตัด ได้แก่ การไม่สามารถนำเอาต้อกระจกออกจนหมด เปลือกหุ้มเลนส์ตาเกิดฉีกขาด มีเลือดออกในดวงตา ต้อกระจกตกหล่นไปที่บริเวณหลังตา หรืออันตรายต่อดวงตาบริเวณอื่น เช่น กระจกตา อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต้อกระจกมักรักษาได้ด้วยการใช้ยาหรือผ่าตัดเพิ่มเติม ซึ่งมีโอกาสหายเป็นปกติได้สูง และมีโอกาสน้อยมากเพียง 1 ใน 1,000 ที่การผ่าตัดจะเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

 

การป้องกันโรคต้อกระจก   การตรวจสายตาเป็นประจำเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเผชิญกับอาการที่รุนแรง และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรได้รับการตรวจดวงตาโดยวิธีขยายม่านตาทุกๆ ปี เพราะไม่เพียงเพื่อตรวจโรคต้อกระจกเท่านั้น แต่รวมถึงโรคทางสายตาชนิดอื่นด้วย  เพื่อให้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีแม้โรคต้อกระจกจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่ออายุมาก แต่ก็สามารถชะลอการเกิดให้ช้าลงได้ด้วยตนเอง โดยการปรับพฤติกรรมหรือลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อไปนี้

  • เลี่ยงการเผชิญแสงแดดโดยตรงด้วยการสวมหมวกมีปีกหรือแว่นกันแดด เพื่อป้องกันอันตรายต่อดวงตาจากแสงยูวี
  • จัดสรรเวลานอนให้เพียงพอ โดยควรนอนให้ครบ 6 ชั่วโมงในแต่ละวัน
  • งดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่อาจเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดต้อกระจกเร็วขึ้น ปัจจุบันหลายการวิจัยชี้ชัดว่าผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำจะมีโอกาสเกิดโรคต้อกระจกได้สูงและเร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคตาชนิดอื่นๆ ด้วย
  • ไม่ควรใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรหยุดพักสายตาเป็นระยะ
  • จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีแสงสว่างที่พอดีและสบายต่อการมองเห็น
  • ไม่ควรซื้อยาหยอดตาทุกชนิดมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • สวมอุุปกรณ์ป้องกันเสมอ เมื่อต้องทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ โปรตีนจากปลา ไข่ เนย นม ตับสัตว์และอาหารจำพวกวิตามินที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินเอสูงช่วยในการบำรุงสายตา เช่น แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ กล้วย มะละกอสุก  เป็นต้น

 

*ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูลอ้างอิง #พบแพทย์   Website : https://www.pobpad.com/ต้อกระจก

 4436
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์