โรคเหงือก

โรคเหงือก

โรคเหงือก (Gum Disease) เป็นโรคที่มีการอักเสบเกิดขึ้นที่เหงือกโดยผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออกขณะแปรงฟัน เหงือกบวม เหงือกอักเสบ หรือมีกลิ่นลมหายใจที่ไม่พึงประสงค์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมตัวของคราบพลัคหรือคราบจุลินทรีย์บนผิวฟัน และหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้มีอาการรุนแรงจนสูญเสียฟันในที่สุด

 

 

อาการของโรคเหงือก อาการของโรคเหงือกอาจแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้

  1. เหงือกอักเสบ เป็นอาการที่เกิดขึ้นในระยะแรกและมักส่งผลกระทบต่อผิวเหงือก โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อของเหงือกและฟัน ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกที่เหงือกขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน มีอาการกดเจ็บที่เหงือก และเหงือกบวมแดง ทั้งนี้ เหงือกอักเสบสามารถรักษาได้โดยการแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อขจัดแบคทีเรียและคราบพลัคบนผิวฟัน ซึ่งจะช่วยทำให้อาการดีขึ้นในเวลาต่อมา แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นผู้ป่วยควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
  2. โรคปริทันต์ เกิดขึ้นเมื่อภาวะเหงือกอักเสบไม่ได้รับการรักษา ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดร่องลึกระหว่างเหงือกและรากฟัน รวมทั้งอาจเกิดการสะสมของแบคทีเรียที่บริเวณนั้นๆ จนเนื้อเยื่อและกระดูกขากรรไกรที่ยึดเหงือกและฟันเอาไว้ด้วยกันได้รับความเสียหายและทำให้สูญเสียฟันได้ในที่สุด

โดยผู้ป่วยโรคปริทันต์อาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • เหงือกบวมแดง
  • สีของเหงือกเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ปวดเหงือกเมื่อกัดอาหาร
  • ลมหายใจมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • รู้สึกมีรสชาติแปลก ๆ ภายในปาก
  • เกิดฝีที่เหงือก ซึ่งอาจกลายเป็นหนองในภายหลัง

นอกจากนี้ แม้จะพบได้น้อย แต่ผู้ป่วยก็อาจมีอาการเหงือกอักเสบเนื้อตายเฉียบพลัน เช่น

  • มีไข้
  • เหงือกร่น
  • มีเลือดออกที่เหงือกและรู้สึกปวดเหงือก
  • มีแผลที่เหงือกและรู้สึกเจ็บบริเวณแผล
  • รู้สึกเหมือนมีรสชาติโลหะอยู่ในปาก
  • มีน้ำลายในปากมากเกินไป
  • มีปัญหาในการพูดหรือกลืนอาหาร

ทั้งนี้ อาการที่เกิดจากโรคเหงือกอาจสังเกตได้ยาก เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจไม่มีอาการปวดหรือระคายเคืองบริเวณเหงือก ดังนั้น การเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปากเป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะช่วยให้ทันตแพทย์ตรวจพบความผิดปกติของเหงือกและทำการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ทั้งยังช่วยป้องกันการสูญเสียฟันอีกด้วย

 

สาเหตุของโรคเหงือก โรคเหงือกมักเกิดจากคราบพลัคที่สะสมอยู่บริเวณรอยต่อของเหงือกและฟัน ซึ่งประกอบไปด้วยแบคทีเรียที่ทำให้เหงือกระคายเคืองและเกิดการอักเสบตามมา อย่างไรก็ตาม สามารถขจัดคราบพลัคออกไปได้ด้วยการแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน แต่หากไม่สามารถขจัดคราบดังกล่าวออกไปได้หมดอาจเกิดคราบหินปูนขึ้นซึ่งต้องให้ทันตแพทย์ช่วยขูดหินปูนออกให้ นอกจากนี้ โรคเหงือกอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้ด้วย เช่น

  • อายุ โดยโรคเหงือกมักพบในวัยผู้สูงอายุ
  • เพศ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเหงือกได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศในช่วงวัยเจริญพันธุ์  
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ พักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานอาหารแบบไม่ถูกสุขลักษณะอย่างการดื่มน้ำอัดลมหรือการรับประทานอาหารทอด รวมทั้งไม่แปรงฟันทันทีหลังรับประทานอาหารดังกล่าว เป็นต้น
  • ความเครียด  ซึ่งอาจทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • การใส่เครื่องมือจัดฟัน ซึ่งอาจทำให้ขจัดคราบพลัคออกไปได้ยากขึ้น
  • ปัญหาสุขภาพหรือโรคบางชนิด เช่น ภาวะขาดสารอาหาร กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีหรือเอดส์ โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • ประวัติทางการแพทย์อื่นๆ เช่น เคยเข้ารับการทำเคมีบำบัด และเคยเป็นโรคเกี่ยวกับเหงือก เป็นต้น

 

การวินิจฉัยโรคเหงือก หากรู้สึกว่าตนเองเป็นโรคเหงือก ควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจ ซึ่งเบื้องต้นทันตแพทย์อาจสอบถามประวัติการเจ็บป่วยหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเหงือก อย่างการป่วยด้วยโรคเบาหวานหรือการสูบบุหรี่ จากนั้นอาจตรวจดูที่เหงือกของผู้ป่วยว่าอักเสบหรือไม่ โดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์ตรวจดูบริเวณรอบๆ ฟัน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคปริทันต์ ทันตแพทย์จะสามารถสอดเครื่องมือดังกล่าวเข้าไปในรอยต่อเหงือกได้ลึกมากกว่า 3 มิลลิเมตร

นอกจากนี้ ในบางกรณีอาจต้องมีการเอกซเรย์ฟันและกระดูกขากรรไกรเพื่อตรวจดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ฟันด้วย หากพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคปริทันต์ ทันตแพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยไปยังปริทันตทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม  ส่วนผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีอาการของโรคเหงือกอักเสบเนื้อตาย ควรเข้าพบทันตแพทย์โดยด่วนเพราะโรคเหงือกชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้

 

การรักษาโรคเหงือก การรักษาโรคเหงือกจะเน้นไปที่การยับยั้งการติดเชื้อ โดยวิธีการรักษาอาจขึ้นอยู่กับอาการของโรค ซึ่งอาจทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การดูแลช่องปาก โดยการแปรงฟันและหมั่นใช้ไหมขัดฟัน เพื่อกำจัดแบคทีเรียและเศษอาหารที่ตกค้าง
  • การขูดหินปูน เป็นการขจัดคราบพลัคหรือคราบหินปูนออกจากบริเวณฟันและใต้รอยต่อเหงือกโดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์  
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของยาบางชนิด หรือใช้ยาปฏิชีวนะที่มีส่วนผสมของเจลหรือใยอาหารที่จะเข้าไปซอกซอนร่องเหงือก เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและช่วยรักษาเหงือกให้กลับมาเป็นปกติ เป็นต้น โดยวิธีนี้มักใช้ร่วมกับการขูดหินปูนเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคและการอักเสบภายในช่องปาก
  • การใส่เนื้อเยื่อทดแทน หากเนื้อเยื่อเหงือกถูกทำลายจนไม่สามารถเย็บติดกันได้ ทันตแพทย์อาจตัดเอาเนื้อเยื่อจากบริเวณอื่นๆ ในช่องปากใส่เข้าไปทดแทนเนื้อเยื่อในบริเวณที่เสียหาย
  • การผ่าตัด หากมีอาการของโรคปริทันต์ที่ค่อนข้างรุนแรง ทันตแพทย์อาจผ่าตัดเปิดร่องเหงือกเพื่อทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวนอกจากนี้ ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างการงดสูบบุหรี่หรือหมั่นดูแลรักษาสุขภาพปากและฟันอยู่เสมอ เพื่อให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น

     

    ภาวะแทรกซ้อนของโรคเหงือก หากมีอาการเหงือกอักเสบแล้วไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือไม่ได้ขจัดคราบพลัคหรือคราบหินปูนออกจากฟัน อาจทำให้อาการรุนแรงจนเกิดโรคปริทันต์ได้ โดยมีงานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์อาจซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเหงือก ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษามากพอที่จะสรุปได้ว่าโรคปริทันต์ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวจริง จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากเพื่อยืนยันผลลัพธ์ในด้านนี้

    ส่วนผู้ที่มีอาการเหงือกอักเสบเนื้อตายเฉียบพลันและไม่ได้เข้ารับการรักษา เชื้อโรคอาจแพร่กระจายไปทั่วบริเวณเหงือกและเบ้ากระดูกรอบๆ ฟัน ซึ่งอาจทำให้เหงือกบริเวณนั้นถูกทำลายโดยสมบูรณ์ ฟันโยก หรือมีแผลพุพองขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดรูโหว่ในเหงือก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่ครั้งแรกที่เป็นก็อาจเสี่ยงต่อการกลับไปมีอาการของโรคซ้ำอีก และอาจส่งผลให้มีอาการเรื้อรังอย่างลมหายใจมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ มีเลือดออกที่เหงือกและมีอาการเหงือกร่น

    นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเนื้อตายเน่าที่สร้างความเสียหายให้แก่บริเวณปากและแก้ม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อเริ่มตายและหลุดออก โดยทันตแพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆ ออก แต่ภาวะแทรกซ้อนลักษณะดังกล่าวก็พบได้ค่อนข้างน้อย

     

    การป้องกันโรคเหงือก โดยทั่วไป อาจป้องกันโรคเหงือกได้ด้วยตนเองตามวิธีดังต่อไปนี้

    • แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง อย่างน้อยครั้งละ 2 นาทีขึ้นไป เน้นแปรงบริเวณฟันและรอยต่อระหว่างฟันและเหงือก โดยควรใช้แปรงสีฟันหัวเล็กที่มีขนแปรงนุ่ม และใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุกๆ 3-4 เดือน เพราะแปรงสีฟันเก่าจะมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟันลดลงและอาจทำให้เหงือกเกิดการบาดเจ็บได้
    • ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัดหากต้องใช้เครื่องมือทำความสะอาดฟันอย่างไหมขัดฟัน แปรงสำหรับซอกฟัน หรือเครื่องมืออื่นๆ
    • ดื่มน้ำให้มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรับประทานอาหาร เพราะอาจช่วยขจัดเศษอาหารตามซอกฟันและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดคราบพลัคที่ฟันได้
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยหลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวอาหารขยะที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างมื้ออาหาร  
    • เข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
    • งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่อาจทำให้ช่องปากเกิดการระคายเคืองและทำให้เกิดโรคต่างๆ ในช่องปากได้
    • หากเป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ โดยระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารหรือของว่าง ควรอยู่ที่ 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง ควรต่ำกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

     

    *ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูลอ้างอิง #พบแพทย์   Website : https://www.pobpad.com/โรคเหงือก

     5643
    ผู้เข้าชม
    สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์