โรคกระดูกทับเส้น

โรคกระดูกทับเส้น

กระดูกทับเส้น (Herniated Disc) คือ ปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกอย่างหนึ่ง เกิดจากหมอนรองกระดูกที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลังถูกทำลายจนเสียหายส่งผลให้ไปกดทับเส้นประสาท แนวกระดูกสันหลังประกอบด้วยกระดูกสันหลังจำนวน 30 ชิ้น เริ่มตั้งแต่กระดูกสันหลังส่วนคอ 7 ชิ้น กระดูกสันหลังส่วนกลาง 12 ชิ้น และกระดูกสันหลังส่วนล่างหรือเอวอีก 5 ชิ้น แต่ละส่วนของกระดูกสันหลังบริเวณคอ อก และเอวทั้ง 24 ชิ้นนี้ เชื่อมกันด้วยเนื้อเยื่อซึ่งเป็นแผ่นกลมเรียกว่า หมอนรองกระดูก ด้านในหมอนรองกระดูกมีลักษณะนุ่มเหนียว ส่วนด้านนอกแข็ง หมอนรองกระดูกช่วยให้หลังมีความยืดหยุ่นขณะเคลื่อนไหวและปกป้องกระดูกจากกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทกอย่างการเดิน ยกของ หรือบิดตัว  ส่วนกระดูกสันหลังชิ้นที่ 25-30 เชื่อมต่อยาวมาถึงบริเวณก้นกบเป็นเส้นเดียวกัน ไม่มีหมอนรองกระดูกรองรับเหมือนกระดูกสันหลัง 24 ชิ้นแรก

 

 

หากได้รับบาดเจ็บหรือกระดูกเสื่อมมักส่งผลให้หมอนรองกระดูกแตก และกระดูกอ่อนส่วนที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกโผล่ออกมา เมื่อหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือกระดูกทับเส้นทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดและไม่สบายตัว หากกระดูกที่เคลื่อนออกมานั้นกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยอาจรู้สึกชา อ่อนแรง หรือเจ็บบริเวณแนวเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาหรือนำกระดูกที่ทับเส้นออกไป โดยส่วนใหญ่อาการกระดูกทับเส้นมักเกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว ซึ่งอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังส่วนอกและกระดูกใต้กระเบนเหน็บ

 

อาการกระดูกทับเส้น กระดูกทับเส้นเกิดขึ้นได้ทุกส่วนตามแนวกระดูกสันหลังซึ่งเริ่มตั้งแต่คอไปจนถึงหลังส่วนล่าง ซึ่งกระดูกสันหลังส่วนล่างเป็นบริเวณที่เกิดกระดูกทับเส้นได้บ่อย ทั้งนี้ กระดูกสันหลังประกอบด้วยเส้นประสาทและเส้นเลือดที่มีโครงสร้างซับซ้อน เมื่อหมอนรองกระดูกเคลื่อนจึงทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทและกล้ามเนื้อที่อยู่ล้อมรอบแนวกระดูกสันหลังได้ ผู้ป่วยกระดูกทับเส้นมักมีอาการ ดังนี้

  • เจ็บปวดบริเวณที่ถูกกดทับ อาการเจ็บปวดนี้มักกำเริบเมื่อเกิดการกดทับบริเวณเส้นประสาท โดยจะมีอาการเมื่อไอ จาม หากหมอนรองกระดูกทับเส้นที่คอ  ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บมากบริเวณไหล่และแขน  หากกระดูกทับเส้นเกิดขึ้นบริเวณเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic Nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ยาวที่สุดในร่างกายเริ่มตั้งแต่ด้านหลังบริเวณเชิงกราน ก้น ร้าวลงไปถึงขาและเท้าทั้งสองข้าง ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บตั้งแต่ก้นลามไปถึงต้นขาหลัง สะโพก น่องและเท้า โดยมีอาการเจ็บเล็กน้อยจนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดร้าวลงขาเมื่อต้องเดินในระยะทางสั้นๆ และอาการแย่ลงเมื่อยืนขึ้น นั่งลง เคลื่อนไหวบางท่า หรือตอนกลางคืน

  • รู้สึกชาหรือเสียวปลาบ กระดูกทับเส้นอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกชาหรือเสียวปลาบที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เนื่องจากเส้นประสาทของร่างกายส่วนนั้นถูกกดทับ รวมทั้งเสียวปลาบ ปวด หรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณที่เส้นประสาทถูกกดทับ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อบริเวณที่เส้นประสาทถูกกดทับนั้นมีแนวโน้มอ่อนแรง หากกล้ามเนื้ออ่อนแรงผู้ป่วยมักสะดุดหรือล้มบ่อย หยิบหรือถือของไม่ถนัด หากมีอาการรุนแรงอาจไม่สามารถยกหรือถือของได้

 

สาเหตุของกระดูกทับเส้น กระดูกทับเส้นมักเกิดขึ้นเมื่อส่วนนอกของหมอนรองกระดูกแตก ทำให้กระดูกอ่อนที่อยู่ข้างในโผล่ออกมาและกดทับเส้นประสาท สาเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกแตกนั้นเกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกมักสูญเสียมวลน้ำส่งผลให้ขาดความยืดหยุ่นและแตกได้ง่าย แต่โดยทั่วไปไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดกระดูกทับเส้นได้อย่างชัดเจน แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่นำไปสู่กระดูกทับเส้น ดังนี้

  • น้ำหนักตัวมากเกินไป ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปจะทำให้กระดูกสันหลังบริเวณหลังส่วนล่างต้องแบกรับน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา
  • แบกของหนัก ผู้ใช้แรงงานที่ต้องแบกหามสิ่งของหนักมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกทับเส้นได้ เนื่องจากการแบกของขนาดใหญ่หรือมีน้ำหนักมาก ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังแทนกล้ามเนื้อขาและต้นขา ทำให้กระดูกบิดและเคลื่อนได้
  • พันธุกรรม ผู้ป่วยกระดูกทับเส้นบางรายป่วยเป็นโรคนี้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • ประสบอุบัติเหตุ การได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุอย่างตกจากที่สูง หรือได้รับการกระทบกระเทือนจากการถูกทำร้ายร่างกายบริเวณหลัง สามารถป่วยเป็นกระดูกทับเส้นแต่พบไม่บ่อยนัก
  • สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกระดูกทับเส้น เนื่องจากส่งผลให้หมอนรองกระดูกสูญเสียความยืดหยุ่น

 

การวินิจฉัยกระดูกทับเส้น การวินิจฉัยกระดูกทับเส้น เริ่มด้วยการตรวจเบื้องต้น ดังนี้

  • การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยเป็นอันดับแรก เพื่อดูท่าทาง กำลังและการตอบสนองของกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ประสิทธิภาพการเดินและประสาทสัมผัสของแขนและขา
  • การตรวจเส้นประสาท แพทย์จะตรวจการทำงานของเส้นประสาทเพื่อดูว่าเส้นประสาทบริเวณคอถูกกดทับหรือไม่ โดยจะให้ผู้ป่วยก้มหัวไปข้างหน้าและเอียงข้างแล้วแพทย์จะกดศีรษะของผู้ป่วยหากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บหรือชามากขึ้น  มีแนวโน้มว่ากระดูกกำลังกดทับเส้นประสาทที่คอ นอกจากนี้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกขาผู้ป่วยขึ้นแล้วให้ผู้ป่วยลองขยับขาตามขั้นตอนการตรวจเพื่อหาสาเหตุของอาการเจ็บ ทั้งนี้ การตรวจด้วยวิธีนี้จะช่วยยืดเส้นประสาทของกระดูกสันหลัง หากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ ชา หรือเสียวปลาบเมื่อถูกยกขา

โดยปกติ แพทย์จะไม่ตรวจเพิ่มเติม นอกจากการซักประวัติ อาการ การตรวจร่างกายทั่วไปและการตรวจดูกำลังกล้ามเนื้อและเส้นประสาทเบื้องต้นซึ่งเพียงพอในการวินิจฉัย อาการกระดูกทับเส้นจะทุเลาและดีขึ้นภายใน 1-3 เดือน แต่หากเจ็บปวดมากขึ้นหรือไม่ดีขึ้นหลังจาก 3 เดือน หรือผู้ป่วยสงสัยว่าเส้นประสาทที่ผิดปกตินั้นเกิดจากสาเหตุอื่น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมและหาความผิดปกติให้ชัดเจนมากขึ้น แพทย์จะตรวจวินิจฉัยประสิทธิภาพการทำงานของเส้นประสาทว่าเป็นอย่างไร ประกอบการตัดสินใจเพื่อผ่าตัด วิธีการตรวจอื่นๆ ได้แก่

  • การเอกซ์เรย์ การเอกซ์เรย์ไม่ใช่เพื่อวินิจฉัยกระดูกทับเส้นโดยตรง แต่ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยแยกความผิดปกติที่เกิดขึ้นออกจากสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวด เช่น การติดเชื้อ เนื้องอก กระดูกหัก และดูการเรียงตัวของกระดูกสันหลังได้
  • ซีทีสแกน แพทย์จะทำซีทีสแกนเพื่อตรวจดูโครงสร้างของแนวกระดูกสันหลังและโครงสร้างกระดูกอื่นๆ
  • เอ็มอาร์ไอ แพทย์จะสแกนโครงสร้างภายในร่างกายผู้ป่วยโดยใช้คลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อประมวลภาพออกมา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ระบุบริเวณที่เกิดกระดูกทับเส้นได้ชัดเจนขึ้น
  • การฉีดสีเพื่อตรวจระบบไขสันหลัง (Myelogram) แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในน้ำไขสันหลัง เพื่อให้ได้ภาพสแกนของอวัยวะภายใน โดยวิธีนี้จะแสดงให้เห็นว่าไขสันหลังหรือเส้นประสาทอื่นๆ ของผู้ป่วยถูกกดทับอันเนื่องมาจากกระดูกทับเส้นหรือสาเหตุอื่น  
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ วิธีนี้จะช่วยประเมินการนำและส่งผ่านกระแสประสาทของเส้นประสาทที่คาดว่าผิดปกติ โดยแพทย์จะวางขั้วไฟฟ้าไว้บนผิวผู้ป่วย และปล่อยคลื่นไฟฟ้าไปกระตุ้นเส้นประสาท ทำให้แพทย์วัดความเร็วและความแข็งแรงของสัญญาณประสาทได้

 

การรักษากระดูกทับเส้น ส่วนใหญ่แล้วอาการกระดูกทับเส้นจะค่อยๆ ดีขึ้นหากผู้ป่วยได้พักผ่อน ออกกำลังกาย และรับประทานยาบรรเทาอาการของโรค ซึ่งจะใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 1-3 เดือน อย่างไรก็ตาม วิธีรักษากระดูกทับเส้นมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการและตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกเคลื่อน ซึ่งแบ่งประเภทได้ ดังนี้

1.การรักษาด้วยยา ยาที่ช่วยรักษาอาการกระดูกทับเส้นประกอบด้วย

  • ยาแก้ปวด ผู้ป่วยกระดูกทับเส้นที่มีอาการปวดหลังเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางสามารถซื้อยาแก้ปวดที่หาซื้อรับประทานได้เอง เช่น ยาไอบูโพรเฟน หรือยานาพรอกเซน
  • ยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotics) หากผู้ป่วยรับประทานยาแก้ปวดทั่วไปแล้วอาการไม่ทุเลาลง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้ปวดชนิดเสพติดให้รับประทาน เช่น โคเดอีนหรือยาพาราเซตามอลที่ผสมสารสังเคราะห์ออกซิโคโดน  โดยแพทย์จะจ่ายยานี้ให้ผู้ป่วยรับประทานเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงของยา โดยจะมีอาการง่วง คลื่นไส้ สับสนมึนงง และท้องผูก
  • ยาระงับอาการปวดที่เส้นประสาท หากผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงขา คือรู้สึกปวดที่ขา สะโพกหรือก้น ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ตามแนวเส้นประสาทไซอาติก แพทย์จะสั่งจ่ายยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงขึ้น ได้แก่ ยาบางตัวในกลุ่มยารักษาอาการซึมเศร้า และยากันชัก โดยยาในกลุ่มรักษาอาการซึมเศร้าจะช่วยบรรเทาอาการปวดเส้นประสาทให้ทุเลาลงได้ ส่วนยากันชักช่วยรักษาอาการปวดเส้นประสาทที่เกี่ยวกับกระดูกทับเส้น อย่างไรก็ตาม ยาทั้งสองตัวนี้ไม่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยกระดูกทับเส้นได้ทุกราย โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้รักษาระยะยาว ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการรักษาด้วยวิธีอื่น แต่ยาบางตัวอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยบางราย
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ แพทย์จะสั่งจ่ายยาคลายกล้ามเนื้อให้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยรับประทานยานี้ประมาณ 2-3 วัน เพื่อรักษาอาการดังกล่าว
  • สเตียรอยด์รักษาอาการปวดจากเส้นประสาท ผู้ป่วยที่ปวดเส้นประสาทไซอาติกจะได้รับการฉีดสเตียรอยด์ โดยแพทย์จะฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าไปบริเวณหลังส่วนล่างหรือบริเวณเส้นประสาทไขสันหลัง ทั้งนี้ อาจมีการสแกนภาพไขสันหลังเพื่อช่วยให้ฉีดยาได้อย่างปลอดภัย การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์จะช่วยลดอาการอักเสบและอาการปวดเส้นประสาท ซึ่งอาการปวดจะทุเลาลงช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ฤทธิ์ยาอาจใช้เวลาสลายตัวนานกว่านั้นและอาจไม่ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวจากกระดูกทับเส้นได้เต็มที่นัก

2.กายภาพบำบัด จะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น  รวมทั้งป้องกันการได้รับบาดเจ็บด้วย ผู้ป่วยกระดูกทับเส้นที่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์มักแนะนำให้ทำกายภาพบำบัด โดยนักกายภาพบำบัดจะใช้เทคนิคที่ช่วยฟื้นฟูการทำงานและการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างการนวดหรือดัดข้อต่อ รวมทั้งแนะนำแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้มากขึ้น อาการปวดทุเลาลง และป้องกันการได้รับบาดเจ็บที่หลัง

3.การผ่าตัดหมอนรองกระดูก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดหากการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผลและผู้ป่วยยังมีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินหรือยืนลำบากนานมากกว่า 6 เดือน หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้ โดยแพทย์จะผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนและกดทับเส้นประสาทออกไปซึ่งเรียกว่า การผ่าตัดหมอนรองกระดูก (Discectomy) ซึ่งมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละราย โดยส่วนใหญ่การผ่าตัดหลังจะช่วยลดอาการเจ็บปวดที่ขา แต่อาจไม่ช่วยลดอาการเจ็บหลังเท่าไรนัก ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติหลังจากพักฟื้นประมาณ 2-8 สัปดาห์ ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการผ่าตัดและประเภททของงานที่ทำ อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยผู้ป่วยอาจติดเชื้อ เส้นประสาทถูกทำลาย เป็นอัมพาต เลือดออกมาก ควบคุมการทำงานของระบบขับถ่ายหนักเบาไม่ได้ รวมทั้งระบบประสาทสัมผัสรับความรู้สึกทำงานผิดปกติชั่วขณะ ผู้ป่วยควรปรึกษาศัลยแพทย์เกี่ยวกับประสบการณ์การผ่าตัด อัตราความสำเร็จ และโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวก่อนรับการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะช่วยประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและระบุระยะเวลาพักฟื้นที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย

4.การรักษาด้วยวิธีอื่น นอกจากวิธีที่กล่าวมาแล้ว อาการกระดูกทับเส้นสามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีอื่น ดังนี้

  • ไคโรแพรกทิค (Chiropractic) วิธีนี้ถือเป็นศาสตร์ใหม่ โดยเป็นศาสตร์จัดกระดูกสันหลังที่ช่วยรักษาอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่าง
  • การฝังเข็ม ช่วยลดอาการปวดหลังและปวดคอเรื้อรัง
  • การนวด ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังอาจทุเลาลงเมื่อได้รับการนวด แต่วิธีนี้จะช่วยบำบัดอาการดังกล่าวได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
  • โยคะ วิธีนี้เป็นวิธีบำบัดที่รวมกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย การกำหนดลมหายใจและการทำสมาธิเข้าไว้ด้วยกัน การรักษาด้วยโยคะจะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายดีขึ้น ผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้มักปวดหลังน้อยลง

 

ภาวะแทรกซ้อนจากกระดูกทับเส้น ผู้ป่วยที่มีอาการกระดูกทับเส้นรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เส้นประสาทถูกทำลายถาวรได้ มีผู้ป่วยน้อยรายที่หมอนรองกระดูกจะเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทของรากประสาทหางม้า โดยทั่วไปแล้ว ไขสันหลังไม่ได้มีเพียงเส้นเดียวตลอดแนวโพรงกระดูกสันหลัง นับตั้งแต่บั้นเอวลงไปจะมีไขสันหลังที่แตกออกเป็นหลายเส้นคล้ายหางม้า จึงเรียกว่า รากประสาทเอวและกระเบนเหน็บ หรือรากประสาทหางม้า (Cauda Equina) หากรากประสาทหางม้าถูกกระดูกกดทับ ควรได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อป้องกันการเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตถาวร ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้

  • อาการป่วยแย่ลง หากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวด ชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
  • ระบบขับถ่ายทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยที่รากประสาทหางม้าถูกกดทับจะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะลำบากทั้งที่รู้สึกปวดปัสสาวะมาก
  • รู้สึกชาบริเวณรอบทวารหนัก รากประสาทหางม้าที่ถูกกดทับจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการรับรู้ทางสัมผัส โดยภาวะนี้จะส่งผลต่ออวัยวะที่สัมผัสกับทวารหนัก ได้แก่ ต้นขาด้านใน  ด้านหลังของขา และบริเวณรอบๆ ลำไส้ตรง

 

การป้องกันกระดูกทับเส้น กระดูกทับเส้นสามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ปวดหลังและเสี่ยงทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนจนกดทับเส้นประสาท ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการกระดูกทับเส้นสามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการให้ทุเลาและไม่แย่ลงเกินไปนัก โดยแนวทางการดูแลและป้องกันกระดูกทับเส้นมีดังนี้

วิธีดูแลรักษาอาการกระดูกทับเส้น ผู้ป่วยกระดูกทับเส้นดูแลตนให้ดีขึ้นได้โดย

  • รับประทานยาระงับปวด รับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาไอบูโพรเฟน หรือยาพรอกนาเซน ยาเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดอันเนื่องมาจากกระดูกทับเส้นให้ทุเลาลงได้
  • ประคบร้อนหรือประคบเย็น วิธีประคบนี้ช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบได้ โดยประคบเย็นก่อน หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วัน จึงเปลี่ยนไปประคบร้อนเพื่อให้อาการทุเลาลงและรู้สึกสบายตัวมากขึ้น
  • เลี่ยงการนอนติดเตียง ผู้ป่วยกระดูกทับเส้นไม่ควรนอนอยู่บนเตียงนานเกินไป เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการข้อติดแข็งและกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยควรเปลี่ยนอิริยาบถ พักในท่าสบายๆ ประมาณ 30 นาที ออกไปเดินเล่นหรือทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ บ้างตามสมควร ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรเลือกที่นอนซึ่งช่วยรองรับแนวกระดูกสันหลังของตัวเองเพื่อเลี่ยงอาการปวดหลัง และใช้หมอนหนุนคอเพื่อลดความเสี่ยงของอาการปวดต้นคอ

 

วิธีป้องกันกระดูกทับเส้น กระดูกทับเส้นป้องกันได้โดยปฏิบัติดังนี้

  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยชะลอความเสื่อมของหมอนรองกระดูกบริเวณหลัง อีกทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงและยืดหยุ่น นอกจากนี้ ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายและค่อยๆ ผ่อนแรงหลังออกกำลังกายเสร็จ ไม่ควรเริ่มหรือหยุดออกกำลังกายกะทันหัน ผู้ป่วยกระดูกทับเส้นที่กำลังพักฟื้นร่างกายควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักหรือรับแรงกระแทกมาก
  • จัดท่าทางของร่างกายให้เหมาะ การจัดระเบียบท่าทางร่างกายให้ดีจะช่วยลดแรงกดทับที่กระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกควรยืดหลังให้ตรงและอยู่ในแนวขนาน โดยเฉพาะเมื่อต้องนั่งนานๆ หากต้องยกของหนักควรค่อยๆ ย่อตัวลง โดยให้น้ำหนักลงที่ขาไม่ใช่ที่หลัง
  • ควบคุมน้ำหนัก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำให้เกิดแรงกดทับที่กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก เสี่ยงเป็นกระดูกทับเส้น หากคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยลดแรงกดทับของกระดูกได้
  • งดการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้หมอนรองกระดูกสูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมเร็วกว่าปกติ

 

 

*ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูลอ้างอิง #พบแพทย์   Website : https://www.pobpad.com/กระดูกทับเส้น

 2390
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์