โรคต้อลม

โรคต้อลม

ต้อลม (Pinguecula) เป็นโรคทางดวงตาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเนื้อเยื่อปกติกลายเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงที่เยื่อบุตาขาว ทำให้มีการระคายเคืองของดวงตาร่วมด้วย  ต้อลมสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณะเป็นตุ่มนูนหรือแผ่นบางๆ สีหลือง โดยส่วนมากมีรูปร่างเป็นรูปสามเหลี่ยม มักพบอยู่บริเวณตาขาวที่ใกล้กระจกตาตรงส่วนหัวตามากกว่าหางตา  และยังสามารถเจริญเติบโตจนเข้าไปสู่กระจกตาได้ ในกรณีที่เกิดการลุกลามเข้าไปในกระจกตาจะถูกเรียกว่า  “โรคต้อเนื้อ”

 

 

อาการของต้อลม โรคต้อลมส่วนมากมักทำให้ดวงตาเกิดการระคายเคือง  แต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป  บางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ในบางรายก็อาจเกิดอาการรุนแรง ซึ่งอาการที่สังเกตได้มีดังนี้

  • มีแผ่นหรือตุ่มนูนขนาดเล็กสีเหลืองเกิดขึ้นภายในตาขาว
  • อาการตาแห้ง เคืองตา  แสบตา
  • มีความรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งติดอยู่ในดวงตา เช่น  เม็ดทราย หรือเศษผง
  • อาการคันตา ทำให้ตาแดงและอักเสบในบางราย
  • ตาบวมและมีอาการเจ็บตา

โดยทั่วไปโรคต้อลมมักไม่ก่ออาการ ยกเว้นถ้ามีการอักเสบเกิดขึ้นหรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หรือจักษุแพทย์เมื่อพบอาการต่อไปนี้

  • ขนาดของก้อนเนื้อที่เป็นต้อลมมีขนาด รูปร่าง หรือสีที่เปลี่ยนแปลงไป
  • มีของเหลวสีเหลืองไหลออกจากดวงตา อาจจะข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง
  • เปลือกหรือผิวบริเวณรอบดวงตาบวมแดง
  • อาการแย่ลงเรื่อย ๆ แม้ได้รับการรักษา
  • มีปัญหาในการมองเห็นเพิ่มมากขึ้น

 

สาเหตุของโรคต้อลม ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดต้อลมที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยสำคัญในการพัฒนาโรคมาจากการโดนแสงแดดหรือรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์เป็นเวลานาน  บ่อยๆ หรือเกิดการระคายเคืองดวงตา เช่น อาการตาแห้ง ดวงตาสัมผัสกับสภาพแวดล้อมภายนอกอย่าง ลม  ฝุ่นละออง ทำให้เนื้อเยื่อปกติของดวงตามีการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นแผ่นหรือตุ่มนูนๆ บริเวณตาขาว เนื่องจากมีการสะสมของโปรตีน ไขมัน หรือแคลเซียม

 

โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่จะเกิดขึ้นบ่อยในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป  อาชีพบางอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสม  โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ช่างเชื่อมโลหะ  

 

การวินิจฉัยโรคต้อลม จักษุแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคต้อลมด้วยการตรวจตาเพียงอย่างเดียว หรืออาจใช้การตรวจตาร่วมกับเครื่องมือตรวจโรคตาเบื้องต้น ที่เรียกว่า  Slit-Lamp  ซึ่งช่วยให้ตรวจดูกระจกตา ม่านตา เลนส์แก้วตา และช่องว่างระหว่างม่านตาและเลนส์แก้วตาได้อย่างละเอียด จึงสามารถมองเห็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในดวงตาได้ง่าย ควบคู่กับการสอบถามอาการเบื้องต้นของผู้ป่วย

 

การรักษาโรคต้อลม โดยทั่วไปโรคต้อลมไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรง เจ็บตา ดวงตาเกิดอาการบวมแดง หรือระคายเคืองขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้น้ำตาเทียม ขี้ผึ้ง หรือยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดการอักเสบและอาการตาแดงจากโรค นอกจากนี้แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีดังต่อไปนี้

  • ก้อนเนื้อหรือตุ่มนูนในดวงตามีการขยายใหญ่มากขึ้นจนเข้าใกล้กระจกตา ทำให้ส่งผลต่อการมองเห็นหรือเกิดความผิดปกติทางสายตาอย่างถาวร
  • สร้างความรู้สึกรำคาญในเวลาปกติหรือเวลาใส่คอนแทคเลนส์
  • ดวงตาเกิดการอักเสบอย่างรุนแรงและยาหยอดตาที่แพทย์สั่งจ่ายไม่สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้
  • ผู้ป่วยบางรายที่กังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ที่ดูไม่สวยงามอาจเข้ารับการผ่าตัดได้เช่นกัน

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคต้อลม   เนื้อเยื่อผิดปกติบริเวณดวงตาอาจขยายใหญ่เข้าไปในกระจกตาหรือบริเวณตาดำ   ทำให้บดบังการมองเห็นจนกลายเป็นโรคต้อเนื้อ ซึ่งโรคต้อเนื้อและต้อลมเป็นภาวะความผิดปกติของโรคทางดวงตาที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน    แต่ต่างกันตรงที่ตำแหน่งการเกิดต่างกัน

 

การป้องกันโรคต้อลม  แม้ว่าสาเหตุการเกิดของโรคที่ไม่ทราบแน่ชัด แต่โรคต้อลมสามารถป้องกันได้ด้วยการเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคขึ้นได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  1. สวมแว่นตาที่มีเลนส์ในการกรองรังสีอัลตราไวโอเลต เอ (รังสียูวีเอ: UVA) หรือรังสีอัลตราไวโอเลต บี (รังสียูวีบี: UVB) จากดวงอาทิตย์ เพื่อปกป้องดวงตาเมื่อต้องทำงานหรืออยู่ในสถานที่ที่มีแดดจัดหากอยู่ในสภาพแวดล้อม
  2. หรือทำงานในสถานที่แห้ง  มีลม   และมีฝุ่นละอองเยอะ   ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาจากลม ฝุ่นละออง เศษผง สิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กที่อาจถูกพัดพามากับลมได้เช่นกันดูแลดวงตาให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ  เมื่อรู้สึกว่าเกิดอาการ
  3. ตาแห้งอาจลองหยอดน้ำตาเทียม    ซึ่งประกอบด้วยสารช่วยหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื่นแก่ดวงตา

 

*ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูลอ้างอิง #พบแพทย์   Website : https://www.pobpad.com/ต้อลม

 4190
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์